บริจาค

เห็นว่า..บล็อกนี้ดี มีประโยชน์... โปรดสนับสนุนผู้ทำบล็อกได้ที่ พร้อมเพย์ 083-4616989
หรือบัญชี 002-1-70462-8 กสิกรไทย สาขาบางลำภู

ภิกษุสองสหาย


ชื่อของบทความนี้ ดูแปลกๆ ในภาษาไทย เพราะ คำว่า “สหาย” ไม่น่าจะเป็นลักษณะนามได้  ชื่อของบทความน่าจะเป็น “ภิกษุ 2 รูป”

อย่างไรก็ดี  ข้อความที่ว่า “ภิกษุสองสหาย” นั้น รู้จักกันดีในแวดวงของพุทธวิชาการ ผมก็เลยใช้ชื่อนั้นตาม  เพราะ ถ้าไปใช้ชื่ออื่น คนอ่านอาจจะนึกว่าเป็นคนละเรื่องกัน

เรื่องนี้เป็นเรื่องแปลกอย่างหนึ่ง คือ ผู้ที่นำมาเผยแพร่มักจะเป็นพุทธวิชาการหรือนักปริยัติ ไม่ใช่พระนักปฏิบัติ

ผู้อ่านอาจจะสงสัยว่า “มันแปลกในเรื่องใด” เพราะ นักปริยัติเขาก็มีหน้าที่อย่างนั้น คือ นำคำสอนของพระพุทธเจ้าออกมาเผยแพร่

ขอให้ผู้อ่านอ่านไปก่อนก็แล้วกัน ผมจะเฉลยในตอนท้าย เรื่องนี้นำมาจาก พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๑-หน้าที่ 209

เรื่องกล่าวถึงว่า มีชาวเมืองสาวัตถี 2 คน ชื่อ วิปัสสกะกับ คันถิกะ ทั้งสองคนเป็นเพื่อนกัน เมื่อได้ฟังธรรมะจากพระพุทธเจ้าแล้วเกิดศรัทธาอย่างแรงกล้า ถึงกับออกบวชทั้งสองคน

พระวิปัสสกะบวชแล้ว ก็ออกป่าประพฤติตามพระปฏิบัติธรรม ไม่นานก็บรรลุพระอรหันต์ วิปัสสกภิกษุ ผู้นี้ต่อมาก็มีผู้มาเรียนด้วย และสำเร็จพระอรหันต์ตามเป็นจำนวนมาก

พระคันถิกะบวชแล้ว ไม่ออกป่า แต่เลือกเรียนปริยัติอยู่ในเมือง ร่ำเรียนพระไตรปิฎกจนเป็นผู้เชี่ยวชาญ ก็อย่างเช่นพุทธวิชาการหรือนักปริยัติในเมืองไทยนี้แหละ  พระคันถิกะก็มีศิษย์ของตนเองเป็นจำนวนมาก

พระอรหันต์ผู้เป็นศิษย์ของพระวิปัสสกะ เมื่อได้บรรลุมรรคผลแล้ว ก็มักจะลาอาจารย์เพื่อเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้ากับอสีติสาวก  พระวิปัสสกะก็สั่งให้ไปเยี่ยมพระคันถิกะเพื่อนของท่านด้วย

ในอรรถกถามีข้อความดังนี้

พระเถระกล่าวว่า “ไปเถิด ผู้มีอายุ, ท่านทั้งหลายจงถวายบังคมพระศาสดา นมัสการพระมหาเถระทั้ง ๘๐ รูป ตามคำของเรา, จงบอกกะพระเถระผู้สหายของเราบ้างว่า ‘ท่านอาจารย์ของกระผมทั้งหลาย นมัสการใต้เท้า’” ดังนี้แล้วส่งไป.

ภิกษุเหล่านั้นไปสู่วิหาร ถวายบังคมพระศาสดาและนมัสการพระอสีติมหาเถระแล้ว ไปสู่สำนักพระคันถิกเถระ เรียนว่า “ใต้เท้าขอรับ ท่านอาจารย์ของพวกกระผม นมัสการถึงใต้เท้า”

ก็เมื่อพระเถระนอกนี้ถามว่า “อาจารย์ของพวกท่านนั่นเป็นใคร?” ภิกษุเหล่านั้นเรียนว่า “เป็นภิกษุผู้สหายของใต้เท้า ขอรับ.”

พระอรหันต์ผู้เป็นศิษย์ของพระวิปัสสกะคงมีเป็นจำนวนมากเหมือนกัน เพราะ เมื่อใดมีพระอรหันต์ผู้เป็นลูกศิษย์ขออนุญาตเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า  พระวิปัสสกะก็สั่งให้ไปเยี่ยมพระคันถิกะทุกครั้ง

พระคันถิกะก็ชักเริ่มสงสัยว่า ทำไมพระวิปัสสกะผู้อยู่ป่าจึงมีลูกศิษย์มากเหมือนกัน พระวิปัสสกะเอาความรู้อะไรไปสอนศิษย์เหล่านั้น  ก็คิดอยู่ในใจว่า เมื่อไหร่เพื่อนมาเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าก็จะถามดู

ต่อมาพระวิปัสสกะก็มาเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า และไปพักอยู่กับพระคันถิกะผู้เป็นสหาย  พระคันถิกะก็สบโอกาสที่จะซักถาม

พระพุทธเจ้าทรงทราบเหตุการณ์แล้ว สงสารพระคันถิกะเพราะจะตกนรกถ้าไปซักถามพระวิปัสสกะ ซึ่งเป็นพระอรหันต์ไปแล้ว  ก็คงจะซักถามด้วยความหลงตัวเองว่า เรียนพระไตรปิฎกมาเยอะ ก็คงประมาณพระปริยัติในเมืองไทยที่ดูถูกพระปฏิบัติที่อยู่ตามป่านั่นแหละ

การซักถามด้วยความดูถูกแบบนั้น จะส่งผลให้ตกนรกได้ พระพุทธเจ้าจึงทรงไปเยี่ยมเยียนพระภิกษุสองสหายนั้น

ในอรรถกถามีข้อความดังนี้

จึงตรัสถามปัญหาในปฐมฌานกะคันถิกภิกษุ ครั้นเมื่อเธอทูลตอบไม่ได้, จึงตรัสถามปัญหาในรูปสมาบัติและอรูปสมาบัติทั้งแปด ตั้งแต่ทุติยฌานเป็นต้นไป พระคันถิกเถระก็มิอาจทูลตอบได้แม้ข้อเดียว พระวิปัสสกเถระนอกนี้ ทูลตอบปัญหานั้นได้ทั้งหมด.

ทีนั้น พระศาสดาตรัสถามปัญหาในโสดาปัตติมรรคกับเธอ. พระคันถิกเถระก็มิสามารถทูลตอบได้. แต่นั้น จึงตรัสถามกะพระขีณาสพเถระ. พระเถระก็ทูลตอบได้.

สุดท้ายเลย อรรถกถาเขียนไว้ดังนี้

“หากว่า นรชนกล่าวพระพุทธพจน์อันมีประโยชน์เกื้อกูลแม้มาก (แต่) เป็นผู้ประมาทแล้ว ไม่ทำ (ตาม) พระพุทธพจน์นั้นไซร้,

เขาย่อมไม่เป็นผู้มีส่วนแห่งสามัญผลเหมือนคนเลี้ยงโคนับโคทั้งหลายของชนเหล่าอื่น ย่อมเป็นผู้ไม่มีส่วนแห่งปัญจโครสฉะนั้น,

หากว่า นรชนกล่าวพระพุทธพจน์อันมีประโยชน์เกื้อกูล แม้น้อย (แต่) เป็นผู้มีปกติประพฤติธรรมสมควรแก่ธรรมไซร้,

เขาละราคะ โทสะ และโมหะแล้ว รู้ชอบ มีจิตหลุดพ้นดีแล้ว หมดความยึดถือในโลกนี้หรือในโลกหน้า, เขาย่อมเป็นผู้มีส่วนแห่งสามัญผล”

ก่อนหน้าข้อความดังกล่าว มีข้อความที่เป็นหัวข้อว่า “พูดมากแต่ไม่ปฏิบัติก็ไร้ประโยชน์”

เรื่องภิกษุสองสหายนี้ เป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับนักปริยัติที่ไม่ยอมปฏิบัติธรรม เพราะเข้าข่าย “พูดมากแต่ไม่ปฏิบัติก็ไร้ประโยชน์”

ประเด็นที่เป็นเรื่องแปลกก็คือ เรื่องภิกษุสองสหาย อรรกถาจารย์เขียนเพื่อเตือนตัวเอง เตือนนักปริยัติ  เตือนพุทธวิชาการว่า ที่ทำอยู่นั้น มันประมาท ควรที่จะปฏิบัติธรรม

ปรากฏว่า นักปริยัติก็เอามาเผยแพร่ต่อ  แต่ก็ไม่ยอมปฏิบัติธรรม มันจึงเป็นเรื่องแปลกสำหรับผม ถ้าว่า นักปฏิบัติธรรมเป็นผู้นำเรื่องนี้มาเผยแพร่ ผมจะไม่ประหลาดใจเลย..



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น